พวกเราชาวพุทธแต่ละคน ล้วนเคยทำบุญ ให้ทานมาแล้วทั้งสิ้น ทั้งในชาตินี้และในชาติก่อน ๆ ถ้าจะนับบุญก็คงจะใหญ่เท่าก้อนโลก แต่ไม่รู้จักใช้บุญของตนเองให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันชาติ จึงต้องรอให้ตายก่อนแล้วจึงไปรับบุญในสวรรค์ คนทำบุญจึงชอบบ่นว่า ทำแต่บุญไม่เห็นได้ดีสักที
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ
เราไม่เคยให้บุญแก่เทวดาที่รักษาตัวเอง ไม่เคยให้บุญแก่นายเวรที่ตามจองล้างจองผลาญกันอยู่ ไม่เคยให้บุญแก่เทวดาและญาติทิพย์ ที่อาศัยอยู่ในเขตบ้านในเขตเรือนของเรา เทวดาเหล่านั้นบางองค์อาจมีบุญน้อย มีฤทธิ์น้อย จึงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรเราได้มาก แต่ถ้าเขาได้รับบุญจากเราบ่อย ๆ เขาจะกลายเป็นเทวดาที่มีฤทธิ์ มีอำนาจ สามารถช่วยเหลือให้เราประสบความสำเร็จได้
บางคนอ้างว่าทำบุญทุกครั้งก็กรวดน้ำให้ญาติ ให้เจ้ากรรมนายเวรทุกครั้ง ก็ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง โปรดเข้าใจว่า ท่านให้ไม่เป็น เขาจึงไม่ได้รับ เช่น ให้ไม่เจาะจง หรือแสงบุญหมดแล้วจึงมากรวดน้ำให้ เขาก็ไม่ได้รับ
การอุทิศบุญ
มี ๒ แบบคือ
๑. การอุทิศบุญทันที เมื่อมีการให้ทาน
ขณะที่มีการให้ของแก่ใครก็ตาม กระแสบุญจะแผ่ออกจากตัวผู้ให้เพียงไม่กี่วินาทีหลังจากที่ของหลุดจากมือผู้ให้ จากนั้นกระแสบุญนี้ก็จะพุ่งหายขึ้นไปสะสมเป็นกองบุญของผู้ให้ เก็บไว้บนสวรรค์ ดังนั้น ขณะที่เราให้ของกับใคร เราจึงควรอุทิศบุญในทันทีที่ของหลุดจากมือเรา โดยการให้คิดว่า “บุญนี้ให้ถึง............” เพราะนอกจากผู้ที่เราอุทิศให้จะได้รับบุญในทันทีแล้ว กระแสบุญของเราก็จะยิ่งไปสะสมเป็นกองบุญของเรา มากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
ฉะนั้น เมื่อมีการให้ทาน เราจะต้อง อุทิศบุญหลังจากที่ของนั้นหลุดจากมือในทันที ไม่ใช่ยกของขึ้นมาจบอุทิศตั้งแต่ก่อนให้ทาน หรือให้ทานเสร็จไปนานแล้วจึงค่อยอุทิศ หรือรอให้พระว่า “ยะถา” ก่อนแล้วจึงเทน้ำอุทิศ ถ้าเช่นนั้นผู้ที่เราอุทิศบุญให้นั้นจะไม่ได้อะไร เพราะตอนเทน้ำไม่มีสัญญาณบุญปรากฏ เราจึงควรให้ของทีละชิ้น อุทิศบุญให้ทีละกลุ่ม หรือทีละคน เช่น เวลาเราเอาของถวายพระ ยกข้าวถวาย พอข้าวหลุดจากมือปั๊บ ให้อุทิศบุญทันทีว่า “บุญนี้ให้ถึงญาติข้า” พอยกแกงถวาย พอชามแกงหลุดจากมือปั๊บ ให้อุทิศทันทีว่า “บุญนี้ให้ถึงเทวดาที่รักษาข้า” พอยกกับข้าวอย่างอื่นถวายพอของนั้นหลุดจากมือปั๊บ ให้อุทิศทันทีอีกว่า “บุญนี้ให้ถึงนายเวรข้า” พอยกน้ำถวาย ขวดน้ำหลุดจากมือปั๊บ ให้อุทิศทันทีอีกว่า “บุญนี้ให้ถึงเชื้อโรคของข้า” ถ้าต้องการจะอุทิศให้ใครเป็นการเฉพาะก็ให้ใส่ชื่อคน ๆ นั้นลงไป เช่น “บุญนี้ให้ถึงนาย หรือนาง......................” เป็นต้น
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงที่เราสมควรจะอุทิศบุญให้ มีดังนี้
๑. ญาติของข้า
๒. เทวดาที่รักษาข้า
๓. นายเวรของข้า
๔. เชื้อโรคที่รบกวนข้า
เชื้อโรคก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง นายเวรก็เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่กวนเรา เทวดาผู้รักษาก็เป็นสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งรักเรา ญาติเราก็คือสัตว์ที่เกี่ยวข้องกันโดยสายเลือดมาก่อนแล้วตายจากกันไป หรือยังอยู่ แต่ถ้ายังอยู่ก็ไม่ต้องอุทิศบุญให้ ให้เราอุทิศบุญให้ผู้ที่รักษาเขา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเขาที่อยู่รอบ ๆ ตัวเขาตามบ้านเรือน ผู้อยู่ข้างในข้างนอกตัวเขา
หรือจะจำแนกประเภทออกตามภูมิของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราอยู่ ก็ให้อุทิศบุญให้แก่ เทวดา เปรต ผี ปีศาจ ยักษ์ นาค ครุฑ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ มาร และพรหม ทั้งฝ่ายนายเวร และฝ่ายญาติของข้า
เทวดา เปรต ผี ปีศาจ ยักษ์ นาค ครุฑ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ อสูร จะถึงความเจริญขึ้น มีสง่าราศีที่ดี ถ้าเขาอธิษฐานบุญจ่ายไปในทางที่ดี หรืออธิษฐานพลังงานของเขาไปยังผู้คน ให้คนคิดในสิ่งที่ดี ๆ เขาจะได้บุญตรงนั้น
การอุทิศบุญ ให้อุทิศบุญให้ทีละกลุ่ม อย่าให้แบบให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เหมือนเวลาเราส่งก๋วยเตี๋ยวให้กับคนหลาย ๆ คน ให้ส่งทีละชาม อย่าเอาก๋วยเตี๋ยวใส่หม้อใหญ่ ๆ แล้วสาดเข้าไปในฝูงคนทีเดียว
การอุทิศบุญในขณะที่ได้ใส่บาตรหรือได้ถวายของพระนั้น เมื่อของหลุดจากมือของตนปั๊บให้รีบคิดอุทิศบุญทันทีอย่าชักช้า แล้วก็ไม่ต้องไปกรวดน้ำให้เสียเวลา เพราะ บุญจะสำเร็จแก่ผู้ที่อยู่ในโลกทิพย์ จากการอุทิศให้ทันที ไม่ใช่สำเร็จเพราะการกรวดน้ำ
การอุทิศบุญหากอยากเทน้ำ ก็ให้เทหลังจากเราอุทิศแล้วก็ได้ เทให้ใครดื่มกินนั้นเป็นบุญ แต่ถ้าเทแล้ว เอาไปเททิ้งอาจจะเกิดบาปได้ เมื่อเข้ารูมด รูปลวก
ถ้าแปลตรง ๆ จาก ยะถา วาริวะหา, สัพพีติโย และภะวะตุ สัพพะมังคะลัง
ยะถา วาริวะหา แปลว่า ห้วงน้ำที่เต็มย่อมทำให้สมุทรสาครเต็มเปี่ยมด้วยน้ำได้ฉันใด ทานที่เราให้แล้วในโลกนี้ อุทิศไปแก่ผู้ละโลกนี้เต็มเปี่ยมเหมือนน้ำในมหาสมุทรฉันนั้น อิฐผล (ผลเป็นที่พอใจ) ทั้งหลายที่เราตั้งใจให้ทานแล้วอุทิศ มันเกิดมากกับเขาอย่างนั้น เกิดมากตลอดกาลในขณะที่เราอุทิศ และไปเกิดกับเขาโดยเร็วพลันด้วย และเมื่อเขาได้บุญแล้ว จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติ ระโส ยะถา ฯ สว่างไสวเหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
และเมื่อเต็มเปี่ยมอย่างนั้นแล้วทีนี้เขาก็ดีใจ พวกนายเวร พวกเชื้อโรค พวกใครต่อใครที่ก่อกวนเรา เขาดีใจเขาก็วาง ความจัญไรที่เขานำมาใส่ เขาก็จะพาหนี สัพพีติโย ความจัญไรทั้งหลาย วิวัชชันตุ จากเราไป สัพพะโรโค วินัสสะตุ โรคทั้งหลายก็จากเราไป ภะวัตวันตะราโย อันตรายก็จากเราไป สุขี ทีฆายุโก ภะวะ สุขทั้งหลายก็เข้ามา เมื่อได้ความสุขก็เจริญยาวนาน
เมื่อเรารู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ มีการกราบไหว้ต่อ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ทั้งหลายอยู่ ความเจริญย่อมเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำเช่นนี้ มี ๔ อย่างคือ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง มีอายุยืนยาว มีผิวพรรณ ผุดผ่อง มีสุขอันยิ่งใหญ่ มีกำลังมหาศาล ทีนี้เมื่อความเจริญทั้ง ๔ มีเกิดขึ้นกับเราแล้ว เราอยู่สบายเพราะว่าเราได้สร้างมงคลแล้ว
มงคลคือสิ่งที่ดีครอบคลุมตัวเราทั้งหมดเรียกว่ามงคล ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง อันมงคลเราได้ทำแล้ว รักขันตุ สัพพะเทวะตา เทพยดาทั้งหลายจงรักษาผู้ทำบุญ สร้างความดี สร้างมงคลนี้แล้ว
สัพพะพุทธานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า สัพพะธัมมานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม สัพพะสังฆานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ดังนี้ สะทาโสตถี ขอความสุขสวัสดีทั้งหลายทั้งปวง ภะวะตุ เต ฯ จงมีแก่พวกท่านทั้งหลายเทอญ.
อนุโมทนารัมภคาถา
ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ....เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺติ....
ห้วงน้ำที่เต็ม ย่อมยังสมุทรสาคร ให้บริบูรณ์ได้ฉันใด....ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ฉันนั้น
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ...ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
ขออิฐผล (ผลเป็นที่พอใจ) ที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว....จงสำเร็จโดยฉับพลัน
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา....จนฺโท ปณฺณรโส ยถา....มณิ โชติรโส ยถา
ขอความดำริทั้งปวง จงเต็มที่....เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ....เหมือนแก้วมณี อันสว่างไสว ควรยินดี
ที่มา..หนังสือสวดมนต์แปล พระศาสนโศภน (จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑
เมื่อให้ทาน ขอให้อุทิศพร้อมในขณะเมื่อวางสิ่งของให้ทาน ขาดจากสิทธิของตนเมื่อใด ให้อุทิศพร้อมกับที่ตนขาดสิทธิ์ในเมื่อนั้น ในวินาทีเดียวกันนั้น ผลบุญจะปรากฏแก่ผู้ที่เราอุทิศบุญให้อย่างแน่นอน
การให้ทานให้อุทิศบุญออกทันที นี่คือวิธีการสร้างความเจริญให้แก่ปัจจุบันและอนาคต แต่ถ้าให้ทานแล้วไม่อุทิศบุญ นั่นคือการสร้างความเจริญให้แต่อนาคตของตนเองเพียงอย่างเดียว พวกทำความดีแล้ว ใจแคบ ทำความดีแล้วไม่เอื้อเฟื้อ คือทำความดีแล้วไม่รู้จักอุทิศบุญ เหมือนกับมีของไม่รู้จักแจก หากเวลาคับขันก็จะไม่มีใครมาช่วยเหลือเรา
การทำบุญแล้วไม่ได้อุทิศให้ใคร บุญจะเป็นของเราเท่านั้น เช่น ถ้าเราทำบุญ ๑๐๐ บาท ผลบุญเป็นของเรา ร้อยล้าน มันก็จะอยู่แค่ร้อยล้าน แต่ถ้าเราอุทิศบุญด้วย มันจะออกเป็นพันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน คือมีกำไรที่เกิดจากการอุทิศบุญเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งอุทิศยิ่งได้
การที่คนให้ทานเพื่ออุทิศ มันเป็นบุญ ๒ ทอด พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญและพาทำ แต่ถ้าให้ทานอย่างเดียว มันเป็นบุญทอดเดียว ไม่แผ่กระจายกำไร
ก่อนที่เราจะอุทิศบุญ ถ้ากลัวว่าผู้ที่เราอุทิศบุญไปให้นั้นจะไม่ได้รับ ให้อธิษฐาน “ขออำนาจพุทธ ธรรม สงฆ์ จงบันดาลกระแสคิดนี้ ให้ถึงญาติ เทวดาที่รักษา นายเวร และเชื้อโรคของข้า ฟังไว้ข้าจะอุทิศบุญแล้ว ต่อไปขอให้พวกท่านตั้งใจรับ รับแล้วรักษากันให้ถูกต้อง บรรดานายเวรทั้งหลายจงปลดปล่อยวาง บรรดาเชื้อโรคจงถอยไป เปลี่ยนแปลงจากภูมิต่ำเป็นสูงด้วยเถิด”
การอุทิศบุญหากรู้ว่าเปรต หรือเทวดาที่เป็นญาติอยู่ใกล้ ให้อุทิศเป็นวาจาเลยก็ได้ รู้ว่าอยู่ไกลอุทิศเป็นกำลังความคิด เรียกว่าแรงอธิษฐาน หรือใช้ความคิดอยู่ภายในไม่พูด การอุทิศเช่นนั้นเป็นประโยชน์ทั้งใกล้และไกล
ความคิดเห็นจากผู้รวบรวม การอุทิศบุญถ้ากลัวว่าผู้ที่เราอุทิศบุญไปให้จะไม่ได้รับ ควรใช้ทั้งการเปล่งเสียงออกมาเป็นวาจาอุทิศ และการใช้ความคิดอุทิศ ไม่ว่าผู้ที่เราอุทิศบุญให้จะอยู่ใกล้หรือไกล ทั้งนี้ให้ดูกาลเทศะด้วยว่าไปรบกวนโสตประสาทคนรอบข้างหรือไม่ หากจะเปล่งเสียงออกมาเป็นวาจาอุทิศ
ถ้าจะอุทิศบุญให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้อุทิศบุญไปให้ ญาติ เทวดาที่รักษา นายเวร และเชื้อโรค ที่เกี่ยวข้องกับคน ๆ นั้น จงรักษาท่านผู้นั้นให้ปลอดภัยด้วยเถิด
เวลาทิ้งเศษอาหารลงในแม่น้ำ ลำคลอง มีปลามากิน มีสัตว์ในน้ำมากิน เราอุทิศบุญได้ อุทิศให้กับผู้รักษาน้ำ น้ำจะไม่สกปรก เพราะผู้รักษาน้ำเขาจะรักษาดี
แม้แต่ขับถ่ายออกมา หรือเทขยะลงในบ่อโสโครก หลุมโสโครก คิดว่าให้เป็นอาหารกับสัตว์ในบ่อโสโครก หลุมโสโครกก็เป็นบุญ อุทิศบุญให้พวกนายเวร พวกเชื้อโรคได้
การร่วมยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นให้ทานหรือทำความดีต่าง ๆ (การร่วมอนุโมทนาบุญ) จะมีบุญเกิดขึ้นกับเรา ฉะนั้นให้เราอุทิศบุญนั้นออกได้ทันที
หมายเหตุ การทำบุญเล็ก ๆ น้อย ๆ หากผู้ทำมีการยินดี หรือมีความสุขในการทำ เช่น การให้ของกับใครก็ตาม การทำกับข้าวให้ครอบครัว การให้เงินลูก การให้ข้าวสุนัข ให้ข้าวแมวกิน หรือการทำอะไรให้ผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นบุญทั้งสิ้น สามารถอุทิศบุญได้
การอุทิศบุญนี้ทำได้ทุกชาติ ทุกศาสนา หากว่านับถือศาสนาอื่น เมื่อให้สิ่งของกับใคร ก็ให้อธิษฐานว่า “ความดีนี้ให้ถึง.............”
Saturday, May 17, 2008
เคล็ดการใช้อำนาจบุญแก้กรรม-ปัญหาชีวิต โดยพระอาจารย์เกษม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
ครับเป็นอย่างไรบ้างครับ?...หลังจากที่เพื่อนๆได้อ่าน
คำสอนการอุทิศบุญของพระอาจารย์เกษม ผมหวังให้เพื่อนๆทุกคนนำไปปฎิบัติดู หากเพื่อนๆท่านใดอยากได้อ่านฉบับที่สมบูรณ์ กรุณาแจ้งอีเมลล์ไว้ที่ Post a comment ได้เลยครับ
รบกวนขอ ฉบับสมบูรณ์ค่ะ จะเอาไว้สอนลูกค่ะ
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
chollac@hotmail.com
Post a Comment